แก่นตะวันสรรพคุณหลากหลาย



โภชนาการคอนเฟิร์ม 'แก่นตะวัน' ลดอ้วน!

ในบรรดาพืชอาหารช่วยลดความอ้วนที่คนไทยรู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวบุก เม็ดแมงลัก หญ้าหมาน้อย เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว คุณสมบัติสู้แก่นตะวันไม่ได้เลยดร.ครรชิต จุดประสงค์ นักวิชาการประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปผลการวิจัยถึงคุณประโยชน์ของ แก่นตะวันพืชตัวใหม่ที่คนไทยเพิ่งรู้จักมา 4-5 ปีนี่เองพืชชนิดนี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นชื่อ เพราะไม่ใช่พืชประจำถิ่นของประเทศไทย ด้วย แก่นตะวันเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตหนาวของอเมริกาเหนือ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Jerusalem artichoke หรือ Sunchoke และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus tuberosusเป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 1.5-2.0 เมตร มีขนคล้ายหนามกระจายทั่วลำต้น ใบคล้ายต้นสาบ มีดอกสีเหลืองคล้ายดอกบัวตอง...มีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินคล้ายขิง ข่า รสชาติหวานมันคล้ายมันแกวแต่มีความกรุบกรอบเหมือนฝรั่ง
คุณประโยชน์มีรอบด้าน ทำได้ทั้งอาหารสัตว์ อาหารลดความอ้วนควบคุมไขมันสำหรับคน รวมทั้งเป็นพืชพลังงานทดแทน ที่สามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นผู้ริเริ่มนำ เข้ามาทดลองปลูกในเมืองไทย เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรไทย
นำเข้ามาทดลองปลูกหลายสายพันธุ์ มีทั้งจากอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และได้พัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถปลูกได้ในสภาพอากาศแบบเมืองไทยจนเป็นผลสำเร็จ
ด้วยเป็นพืชที่มีต้นตระกูลใกล้ชิดกับทานตะวัน และทั้งที่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว นำมาปลูกทดลองที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมีความแข็งแกร่ง สามารถปรับตัวเจริญเติบได้ดี จึงได้ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า แก่นตะวัน
นอกจากจะสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ขุดเหง้าหัวขึ้นมาขายทำเงินได้แล้ว ยังมีดอกที่สวยงาม สามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว แบบเดียวกับทุ่งทานตะวัน ทุ่งดอกบัวตองได้อีกต่างหาก
แต่เนื่องจากเป็นพืชชนิดใหม่ ที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพอากาศในบ้านเรา
คุณสมบัติในด้านโภชนาการ ช่วยลดความอ้วน จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่...ทางสถาบันวิจัยโภชนการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ดร.ครรชิต จุดประสงค์ จึงเข้ามารับหน้าที่ศึกษาวิจัยต่อ
ผลปรากฏว่า แก่นตะวันผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์เป็นไทย ยังคงมีสรรพคุณช่วยลดความอ้วนได้เหมือนเดิม และยังเหนือกว่าพืชหลายชนิดที่คนไทยเคยรู้จัก
แม้แก่นตะวันจะเป็นพืชที่มีหัวอุดมไปด้วยแป้ง คาร์โบไฮเดรต เหมือนพืชมีหัวทั่วไป แต่แป้งในหัวแก่นตะวันเป็นแป้งที่ไม่ธรรมดา
ไม่เหมือนแป้งในหัวมันอย่างอื่น ที่กินไปแล้วร่างกายจะย่อยสลายดูดซึมเข้าไปสะสมเป็นไขมันทำให้อ้วน
เพราะแป้งในหัวแก่นตะวันมีอินนูลินและฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ ร่างกายย่อยสลายดูดซึมไม่ได้ มันทำให้แป้งของแก่นตะวัน
กลายเป็นใยอาหารที่เข้าไปช่วยทำความสะอาด เก็บกวาดของเสีย
ในระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี กินเข้าไปแล้วรู้สึกอิ่มและขับถ่ายได้ดี
เพื่อให้เข้าใจถึงระบบการทำงานของแป้งใยอาหารของแก่นตะวันลดความอ้วนได้ อย่างไร ดร.ครรชิต อธิบายว่า สาเหตุอ้วนมาจากกินอาหารประเภทแป้งน้ำตาลเข้าไปสะสมในร่างกายเยอะมาก
โดยเฉพาะบริโภคสารความหวาน กลูโคสจากแป้ง ฟรุคโตสจากผลไม้ ซูโครสที่ได้จากน้ำตาลทราย...สารความหวานจากแหล่งเหล่านี้ มีโมเลกุลสั้น ร่างกายสามารถย่อยสลายดูดซึมเข้าไปสะสมในร่างกายได้
แต่ถ้าเจอสารความหวานที่เป็นโมเลกุลสั้นๆ แต่จับตัวเรียงแถวเป็นสายยาวตั้งแต่ 3-10 ตัว ที่มีชื่อเรียกว่า ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์...ร่างกายจะย่อยสลายไม่ได้
และถ้ายิ่งเป็นสารความหวานที่มีโมเลกุลสั้นเข้าแถวเรียงตัวกันเป็นสายยาว 10-60 ตัว มีชื่อเฉพาะเรียกว่า อินนูลิน
ร่างกายของคนเรายิ่งจะดูดซึมได้ยากเข้าไปใหญ่ และยังจะเป็นใยอาหารชั้นดีที่ช่วยกวาดล้าง สารพิษ สิ่งแปลกปลอม สารก่อมะเร็งที่เรากินเข้าไปและตกค้างในระบบทางเดินอาหาร ให้ถูกขับถ่ายออกไปได้เป็นอย่างดี
มีผลช่วยบรรเทาอาการท้องผูก และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้
ถ้าคุณสมบัติมีแค่นี้ เป็นแค่ใยอาหาร ดร.ครรชิต บอกว่า แก่นตะวันแทบจะไม่มีอะไรดีเด่น น่าสนใจสักเท่าไร เพราะจะไม่ต่างอะไร
กับหัวบุก เม็ดแมงลัก และหญ้าหมาน้อย ที่คนไทยรู้จักกัน...แต่แก่นตะวันมีคุณสมบัติมากกว่านั้น และเป็นอะไรที่พืชลดความอ้วนอย่างอื่นไม่มี
เพราะหลังจากถูกกัดเคี้ยวกลืนให้เข้าไปอยู่ในกระเพาะ และไปย่อยสลายให้ร่างกายดูดซึมในลำไส้เล็กจนกลายเป็นใยอาหารแล้วถูกบีบให้ ไหลขับเคลื่อนไปสู่ลำไส้ใหญ่ เตรียมขับถ่ายเป็นอุจจาระ
มาถึงขั้นนี้ ถ้าเป็นพืชใยอาหารลดความอ้วนอย่างอื่น หน้าที่และประโยชน์ของมันจะหมดและจบลงเพียงแค่นี้
แต่แก่นตะวันนั้น มาถึงลำไส้ใหญ่มันยังมีฤทธิ์ มีประสิทธิภาพทำงานให้กับร่างกายได้อีก
เนื่องจากปกติลำไส้ของคนเราจะมีภาวะเป็นด่าง มีค่า pH 7-8 เป็นภาวะที่แบคทีเรียไม่ดี แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเจริญเติบโตได้ดี
แต่พอกากใยอาหารของแก่นตะวันตกมาถึงลำไส้ใหญ่ สิ่งมหัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้น...ทำให้ภาวะลำไส้ใหญ่ที่เป็นด่างจะกลายเป็นกรด อย่างอ่อน มีค่า pH อยู่ที่ 35
ดร.ครรชิต อธิบายว่า ภาวะอย่างนี้มีผลดีต่อร่างกาย การเป็นกรดอย่างอ่อนจะช่วยทำลยแบคทีเรียก่อให้เกิดโรคล้มหายตายจากไปแล้ว ยังจะทำให้จุลินทรีย์ที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactabacillus) ไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium) เจริญเติบโตได้ดี
นอกจากจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้นแล้ว สิ่งที่พิเศษสุดๆ แก่นตะวันยังช่วยให้ลำไส้ใหญ่สามารถดูดซึมแร่ธาตุสำคัญจำพวก แคลเซียมและเหล็ก จากกากอาหารได้อีกด้วย
ดูดซึมได้ถึง 2 ครั้ง ทั้งในลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ จากที่ปกติ
ดูดซึมได้เฉพาะที่ลำไส้เล็กเท่านั้นเอง
นี่แหละความมหัศจรรย์ของแก่นตะวัน...ที่พืชลดความอ้วนชนิดอื่นไม่มี
และเหนืออื่นใด...ยังเป็นพืชปลูกง่ายให้หัวเร็ว ปลูก 3-4 เดือน ดอกบานแล้วโรย ถอนต้นขุดราก ล้างเหง้าให้สะอาด หักกัดกินดิบๆ สดๆ...ไม่ต้องปอกผิวออก ก็ยังกินได้
กินไม่หมด เก็บใส่ตู้เย็น จะเก็บไว้กินดิบๆ เอาไว้ทำกับข้าว ต้มผัดแกงทอด หรือเอาไว้ทำพันธุ์ปลูกต่อก็ยังได้
ในขณะที่หัวบุก เม็ดแมงลัก หญ้าหมาน้อย...ทำอย่างนี้ไม่ได้
ต้องยุ่งยากทำให้สุกก่อนถึงจะโซ้ยลดอ้วนได้
แก่นตะวัน...ปลูกเอง ขุดเอง กินเองได้ ลดอ้วนแบบพอเพียงไม่ต้องพึ่งใคร.
ที่มา  นสพ.ไทยรัฐ
  • โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
  • 15 สิงหาคม 2554, 09:12 น. ,สกุ๊ปหน้า 1,โภชนาการ,แก่นตะวัน,ลดความอ้วน,


"แก่นตะวัน"พืชเศรษฐกิจทางเลือก

"แก่นตะวัน"พืชเศรษฐกิจทางเลือก สุดยอดสมุนไพร-ตลาดต้องการสูง



          หลังจาก ประภาส ช่างเหล็ก นักวิจัยชำนาญการ หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดลองปลูก "แก่นตะวัน" หรือ "แห้วบัวตอง" บนพื้นที่สูงในแปลงทดลองของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ 6 ไร่ ตั้งแต่ปี 2551 พบว่า ปลูกง่าย ให้ผลผลิตที่คุ้มต่อการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกใหม่ เนื่องจากเป็นพืชอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสรรพคุณทางสมุนไพรหลายอย่าง ขณะที่ตลาดในปัจจุบันมีความต้องการสูง 


          "แก่นตะวัน" เดิมทีเรียกว่า "แห้วบัวตอง" เป็นพืชล้มลุกในตระกูลเดียวกันกับทานตะวัน แต่มีหัวคล้ายกับขิงหรือข่า ลำต้นสูงราว 1-1.50 เมตร มีดอกมีสีเหลืองสดคล้ายบัวตอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโชค (Jerusalem artichoke) มีถิ่นกำเนิดแถบหนาวของทวีปอเมริกาเหนือ แต่สามารถปรับตัวได้ดีในเขตร้อน ที่สำคัญมีความแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ จึงมีการนำไปปลูกในทวีปยุโรป และในเขตกึ่งหนาวรวมถึงเขตร้อนอย่างในประเทศอินเดีย


          ส่วนในประเทศไทย มีการนำมาปลูกในปี 2539 ต่อมา รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำสายพันธุ์แก่นตะวันเข้ามาปลูกในแปลงทดลองวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ จำนวน 24 สายพันธุ์ พร้อมทำการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์ จึงพบว่า สายพันธุ์เคเคยู เอซี  008 (KKU Ac 008) ให้ผลผลิตหัวสดไร่ละ 2-3 ตัน จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แก่นตะวัน


          ประภาส บอกว่า จากข้อมูลการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณของแก่นตะวัน พบว่า ส่วนหัว เหมาะที่จะรับประทานหัวสด รสชาติหวาน เป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตสที่ต่อกันเป็นโมเลกุลยาว มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน ลดไขมันในเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และสร้างภูมิคุ้มกันโรค แต่ให้แคลอรีต่ำ ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น


          "ผมเห็นว่าพืชตัวนี้มีอนาคต สามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรได้ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นพืชอาหารแล้วยังเป็นพืชพลังงานด้วย คือ หัวสด 1 ตันสามารถผลิตเอทานอลที่บริสุทธิ์ 99.5% ได้ 100 ลิตร นำไปผสมน้ำมันเบนซิน ผลิตแก๊สโซฮอล์ได้" ประภาส กล่าว


          หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ บอกอีกว่า เนื่องจากแก่นตะวันชอบสภาพภูมิอากาศหนาว จึงนำไปทดลองปลูกในแปลงทดลองของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ 6 ไร่ เมื่อปี 2551 และนำไปปลูกที่ไร่สุวรรณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในพื้นที่ 3 งาน ที่จ.กาญจนบุรี 2 ไร่ พบว่าที่จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร ให้ผลผลิตหัวสดไร่ละ 8-10 ตัน ในส่วนของพื้นที่ล่างได้ 5-6 เมตร


          "ตอนที่งานเกษตรแฟร์ปี 2552 ผมนำออกบูธขาย กก.ละ 50 บาท ปรากฏว่าหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรกๆ งานเกษตรแฟร์ครั้งที่ผ่านมา ขาย กก.ละ 100 บาท หมดตั้งแต่วันแรก ข้างบูธผมมีเอกชนมาขาย กก.ละ 350-400 บาท ก็ขายหมดเหมือนกัน เพราะตลาดต้องการสูงมาก ผมจึงส่งเสริมให้เกษตรกรบนที่สูงปลูก เพราะมีพ่อค้ามาติดต่อขอซื้อในราคากก.ละ 150 บาท นอกจากนี้เมื่อปี 2553 ทางบริษัท อูเอโน ไซแอนซ์ เทค แลบอราทอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของชาวญี่ปุ่น ให้ความสนใจที่จะรับซื้อผลผลิตเช่นกัน แต่รับปากไม่ได้ เพราะผลผลิตยังน้อยอยู่" หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ กล่าว


          การปลูกแก่นตะวันนั้น ประภาสบอกว่า ปลูกง่าย พรวนดินให้ร่วน ขุดหลุมลึก 2 ซม. ห่างกัน 50x50 ซม. เอาหัวชำถุงปลูกลงหลุมใช้เวลาเพียง 4 เดือน สามารถขุดผลผลิตนำมาบริโภค หรือนำไปจำหน่ายได้แล้ว และน่าจะเป็นทางเลือกของเกษตรกรด้วย


"ดลมนัส  กาเจ"
ที่มา คมชัดลึก